Saturday, May 16, 2009

ประวัติกาแฟในประเทศไทย



กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกชนิดหนึ่ง เกษตรกรชาวไทยปลูกกาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจทั้งภาคเหนือและภาคใต้ โดยภาคเหนือปลูกกาแฟพันธุ์อราบิก้า (Arabica) และภาคใต้ปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้า (Robusta)


ประวัติกาแฟพันธุ์อราบิก้าในประเทศไทย ตามบันทึกของพระสารศาสตร์พลขันธุ์ (นายเจริณี ชาวอิตาเลียน) ในปี พ.ศ. 2454 ได้ระบุว่า กาแฟเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้มีการทดลองปลูกกาแฟอราบิก้าในฐานะพืชเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2393 โดยครั้งแรกได้นำไปปลูกไว้ที่จังหวัดจันทบุรี จึงมีชื่อเรียกว่า กาแฟจันทบูร ส่วนกาแฟพันธุ์โรบัสต้า คนไทยคนแรกที่นำมาปลูกในภาคใต้ของไทย ชื่อ นายคิหมุน นำมาปลูกเมื่อปี พ.ศ. 2447 ที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และมีการแพร่หลายในฐานะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยมีแหล่งปลูกสำคัญร้อยละ 90 อยู่ทางภาคใต้ ที่จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกทางภาคใต้ คือ พันธุ์โรบัสต้า ในขณะที่ทางภาคเหนือแหล่งปลูกสำคัญอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน โดยนิยมปลูกพันธุ์อราบิก้า


ในปี พ.ศ. 2500 นายสมบูรณ์ ณ ถลาง อดีตผู้อำนวยการกองการยาง กรมกสิกรรม (กรมวิชาการเกษตรในปัจจุบัน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำเมล็ดกาแฟอราบิก้าจำนวน 4 สายพันธุ์ คือ ทิปิก้า (Typica), เบอร์บอน (Bourbon), แคททูรา (Caturra) และมุนดู นูวู (Mundo Novo) จากประเทศบราซิลมายังประเทศไทย โดยปลูกไว้ที่สถานีทดลองพืชสวนมูเซอ จ.ตาก สถานีทดลองพืชไร่แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ และสถานีทดลองพืชสวนฝาง จ.เชียงใหม่ เมล็ดกาแฟจากสถานทดลองทั้งสามแห่งนี้ได้แพร่กระจายไปสู่เกษตรกรชาวไทยภูเขาและพื้นราบ ซึ่งปลูกกันอย่างแพร่หลาย ต่อมาต้นกาแฟอราบิก้าเหล่านี้ได้เกิดเป็นโรคราสนิม สาเหตุจาก เชื้อรา Hem ileia vastatrix ทำให้ต้นโทรม ผลผลิตต่ำมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2516 นักวิชาการโรคพืชจากกองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตรได้ทำการสำรวจการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้นกับกาแฟโรบัสต้าและกาแฟอราบิก้าในภาคใต้และภาคเหนือของประเทศ พบว่า กาแฟโรบัสต้าในภาคใต้ได้รับความเสียหายจากโรคราสนิมน้อยมาก เกิดขึ้นเฉพาะกาแฟอราบิก้าในภาคเหนือที่ปลูกบนภูเขาของจังหวัดตาก เชียงใหม่ เชียงราย (อ.แม่สาย) ลำปาง และน่าน ซึ่งได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งสายพันธุ์ ทิปิก้า เบอร์บอน และแคททูรา ทำให้เกษตรกรหยุดการดูแล เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องโรคราสนิมได้ จึงต้องปล่อยให้สวนกาแฟรกร้างและเลิกปลูกกันเป็นส่วนมาก


ในปี พ.ศ. 2517 โครงการหลวงพัฒนาชาวเขา ได้มีดำริที่จะทำการวิจัยและพัฒนาการปลูกกาแฟอราบิก้าบนพื้นที่สูง เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาในภาคเหนือ ภายใต้ความช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA)ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรดำเนินการ โดยโครงการหลวงพัฒนาชาวเขาได้รับเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิก้าลูกผสมรุ่นที่ 2 ที่ศูนย์วิจัยโรคราสนิมของโปรตุเกส (Coffee Rust Research Center, Oeiras, Portugal) ได้ผสมขึ้นมาเพื่อความต้านทานต่อโรคราสนิม โดยใช้พันธุกรรมที่สามารถต้านทานต่อโรคราสนิมของกาแฟอราบิก้า Hibride de Timor มาผสมกับกาแฟอราบิก้าที่มีพันธุกรรมต้นเตี้ย ผลผลิตสูง และกาแฟอราบิก้าที่มีรสชาติดี ลูกผสมรุ่นที่ 2 ทั้ง 26 คู่ผสมนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็น Hibrido de Timor derivative และกลุ่มอราบิก้าแท้ (True Arabica) โดยนำกาแฟอราบิก้าที่เพิ่งสำรวจพบ และเก็บเมล็ดมาในช่วงศตวรรษที่ 19 จากเอธิโอเปีย เช่น S.12 Kaffa, S.4 Agaro, S.6 Cioiccie Dilla Alghe เป็นต้น มาผสมกับกาแฟอราบิก้าสายพันธุ์ที่ปลูกเป็นการค้า เช่น แคททูรา คาทุยอิ ในปัจจุบันกาแฟอราบิก้าลูกผสมเหล่านี้ (หลายสายพันธุ์) ได้ผ่านการทดสอบกับเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคราสนิมแล้ว จึงได้คัดเลือกต้น บันทึกผลผลิตและพัฒนามาจนถึงรุ่นที่ 4 รุ่นที่ 5 รุ่นที่ 6 ของแต่ละสายพันธุ์ ปัจจุบันได้แพร่กระจายไปตามแหล่งปลูกต่าง ๆ บนภูเขาในภาคเหนือ เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ดอยช้าง จ.เชียงราย บนพื้นที่สูงของจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ตามลำดับ


ในช่วงเวลาเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2517 กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิก้าพันธุ์อื่นๆ มาให้โครงการหลวงพัฒนาชาวเขาอีกชุดหนึ่ง เช่น S.288, S.353 และ S.795 ซึ่งได้ผสมและพัฒนาพันธุ์จนกระทั่งมีความคงที่และไม่ผันแปรในความต้านทานต่อโรคราสนิม และเรื่องผลผลิต มาจากประเทศอินเดีย และกาแฟอราบิก้าสายพันธุ์ K.7 มาจากประเทศเคนย่า



ในปี พ.ศ. 2526 นักวิชาการจากกรมวิชาการเกษตร ได้เดินทางไปร่วมประชุมเรื่องโรคราสนิมของกาแฟ และศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยโรคราสนิมของกาแฟที่ประเทศโปรตุเกส เมื่อเดินทางกลับประเทศ ได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิก้า คาติมอร์ (Coffee Arabica cv. Catimor) 2 เบอร์ กลับมาด้วย คือ คาติมอร์ CIFC 7962 และ คาติมอร์ CIFC 7963 หลังจากได้เพาะเมล็ดและทดสอบกล้าพันธุ์ กันเชื้อรา H. vastatric Race II ในห้องปฎิบัติการแล้ว กล้าพันธุ์เหล่านี้ได้ถูกส่งไปปลูกเพื่อทดสอบผลผลิต และความต้านทานต่อโรคราสนิมในสภาพธรรมชาติ ที่สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่ สถานีเกษตรที่สูงเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอราบิก้า โครงการหลวงแม่หลอด จ.เชียงใหม่


ต่อมาในปี พ.ศ. 2527 และปี พ.ศ. 2530 กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้รับเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิก้า คาติมอร์ อีก 3 เบอร์ คือ คาติมอร์ CIFC 7958, คาติมอร์ CIFC 7960 และ คาติมอร์ CIFC 7961 จากศูนย์วิจัยโรคราสนิมของโปรตุเกส กล้าพันธุ์เหล่านี้ได้ถูกส่งไปปลูกที่สถานีเกษตรที่สูงเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดอยตุง สถานีทดลองเกษตรที่สูง จ.เชียงราย และ ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า มูลนิธิโครงการหลวง แม่หลอด จ.เชียงใหม่


ในปี พ.ศ. 2531 กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร ได้รับเมล็ดพันธุ์กาแฟอราบิก้าลูกผสมรุ่นที่ 2 ระหว่าง คาติมอร์ คาทุยอิ จำนวน 8 ชุด จากศูนย์วิจัยโรคราสนิมของโปรตุเกส กล้าพันธุ์ที่ได้หลังจากการทดสอบกับเชื้อรา H. vastatrix Race II แล้ว ได้ถูกส่งไปปลูกที่ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟอราบิก้า โครงการหลวงแม่หลอด จ.เชียงใหม่ สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ภูขัด ภูเมี่ยง และภูสอยดาว จ.พิษณุโลก


สรุปได้ว่า กาแฟอราบิก้าสายพันธุ์ต่างๆ ได้แพร่กระจายไปตามแหล่งเพาะปลูกต่างๆ บนที่สูงในพื้นที่ของ มูลนิธิโครงการหลวง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดอยตุง จ.เชียงราย ส่วนเมล็ดพันธุ์จากสถานีของสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ถูกส่งไปยัง สถานีทดลองเกษตรหลวงขุนวาง จ.เชียงใหม่ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวารี จ.เชียงราย สถานีทดลองพืชสวน มูเซอ จ.ตาก สถานีทดลองเกษตรที่สูงเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ และโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง ภูขัด ภูเมี่ยง และภูสอยดาว จ.พิษณุโลก และได้แจกจ่ายไปสู่เกษตรกร และชาวไทยภูเขาได้ปลูกกันอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ที่มาของบทความ http://www.purichawon.com/_histofcofet/hiscofet.asp
ตำนานการเกิดกาแฟมีหลายเรื่อง เรื่องที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปคือเรื่องนายกัลดี (Kaldi) ชาว อบิซีเนีย คนเลี้ยงแพะ ปกติจะต้อนฝูงแพะออกไปหากินอาหารตามทุ่งหญ้าเนินเขาต่างๆ ริมฝั่งทะเลแดง วันหนึ่งสังเกตเห็นความผิดปกติของฝูงแพะมีความคึกคักขึ้นหลังจากกินอาหารบริเวณเนินเขา คัลดี จึงตามฝูงแพะขึ้นไปพบว่าแพะเหล่านั้นกินผลไม้สุกสีแดง ทำให้พวกแพะคึกคัก กระโดดโลดเต้นอย่างคึกคะนอง คัลดีจึงลองทดสอบกินผลไม้นี้พบว่ามีความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าขึ้นมา กัลดีจึงนำผลไม้นี้ไปอวดกับพระนักบวชในหมู่บ้าน พระนักบวชจึงไปสังเกตดูต้นไม้และนำผลไม้นี้กลับมาทดลองคั่วและต้มชง ดื่มทดลองพบว่าสามารถสร้างความกระปรี้กระเปร่าทำให้สวดมนต์ได้อย่างยาวนานในตอนกลางคืนโดยไม่มีอาการง่วงนอน

อีกตำนานหนึ่งเป็นเรื่องของ อาลี บิน โอมา (Ali Bin Omar) ที่ได้กระทำผิดประเพณีกับ เจ้าหญิงและได้ถูกเนรเทศไปอยู่ที่บริเวณภูเขาในประเทศเยเมน ที่นั่นโอมาได้ค้นพบต้นไม้ที่มีดอกสีขาว สามารถต้มเมล็ดแล้วดื่ม ได้อย่างมีความสุข เมื่อเขาเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ ได้นำเมล็ดต้นไม้นี้ไปด้วย และที่เมกกะโอมาได้ช่วยรักษาโรคหิด โรคผิวหนังของนักแสวงบุญหลายคน ด้วยเหตุนี้เมื่อเขาเดินทางกลับจึงได้รับการขนานนามให้เป็นเทวดาผู้ให้การอุปถัมถ์ต่อผู้ปลูกกาแฟ เจ้าของร้านกาแฟ และผู้ดื่มกาแฟ

ประวัติกาแฟโลก

กาแฟถูกค้นพบประมาณ ค . ศ .850 ปี ก่อนคริสศักราช ชาวแอฟริกาพื้นเมืองใช้กาแฟเป็นอาหารมานานแล้ว สันนิฐานว่ามนุษย์สมัยโบราณ อาจเรียนรู้จากการสังเกตสัตว์ว่ากินอะไรและทดลองกินพบว่า ผลกาแฟสุกมีรสหวานเป็นที่ชื่นชอบของนกและสัตว์ต่างๆ ในช่วงแรกๆ รับประทานผลสุก ต่อมานำผลสุกมาทำไวน์ เรียกว่า ควาฮ์วาฮ์ (qahwah) เมื่อลองเคี้ยวเมล็ดกาแฟ จะเกิดมีความรู้สึกว่าสบายหายเหน็ดเหนื่อยจากอากาศร้อนหรือการเดินทางไกล เพราะกาแฟมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นร่างกาย ทำให้กาแฟได้เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ต่อมามีการพัฒนานำเมล็ดกาแฟมาป่นผสมไขมันสัตว์ปั้นเป็นก้อนไว้กินเป็นอาหารติดตัวในการเดินทางชาวพื้นเมืองบางเผ่าในแอฟริกา ใช้กาแฟเซ่นไหว้พระเจ้า และผีสางที่นับถือ ในพิธีฉลองสาบานพี่น้องร่วมสายโลหิต มีการแกะเมล็ดกาแฟจากผลกาแฟสองเมล็ดแบ่งให้พี่น้องคนละหนึ่งเมล็ด เพื่อนำไปจุ่มหรือทาด้วยโลหิตของตนและมอบให้พี่น้องแต่ละคนไปเคี้ยวรับประทาน กาแฟเป็นของขวัญที่มอบให้แก่แขกที่มาเยี่ยมเคี้ยวก่อนที่จะเลี้ยงอาหารเป็นต้น ต่อมากาแฟจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องดื่มในระยะแรกใช้เมล็ดกาแฟใส่ในน้ำต้มบนกองไฟ จนน้ำกาแฟออกเป็นสีเหลืองกาแฟได้มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีการตากเมล็ดกาแฟเพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น มีการคั่วบด แช่ ต้ม กาแฟ โดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ครกบด กระทะ เครื่องต้ม กาแฟ ฯลฯ เพื่ออำนวยความสะดวกยิ่งขึ้น

ในราว ค . ศ .1000 การค้าทาสกำลังเฟื่องฟู พ่อค้าทาสนำทาสนิโกรจากทางใต้ของซูดาน ไปประเทศซาอุดิอาระเบีย พ่อค้าทาสและพวกทาสได้นำผลและเมล็ดกาแฟติดตัวไปด้วย การปลูกกาแฟของชาวอาหรับถูกเก็บเป็นความลับและเมล็ดกาแฟเป็นสิ่งหวงห้าม เมล็ดการแฟดิบนำออกนอกประเทศ ยกเว้นต้องต้มหรือลวกในน้ำร้อน แต่เมล็ดกาแฟยังถูกลักลอบนำออกไปแพร่กระจายจากเมกกะโดยผู้แสวงบุญที่กลับจากเมกกะไปยังประเทศมุสลิมของตนเองทั่วโลกราวศตวรรษที่ 9 กาแฟเป็นพืชที่รู้จักกันดีในแถบตะวันออกกลาง จนถึงต้นศตวรรษที่ 14 ชาวอาหรับเริ่มการปลูกกาแฟเป็นการค้า บริเวณคาบสมุทรอาระเบียใกล้เมืองท่ามอคค่า (Mocha) ต่อมากาแฟแถบนี้กลายเป็นสายพันธุ์กาแฟที่มีชื่อเสียง ศตวรรษที่ 15 กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในประเทศตะวันออกกลางและดินแดนอาหรับ จากอียิปต์ เมกกะและซีเรียแล้วเข้าสู่เมืองคอนสแตนติโนเบล ประเทศตุรกี ในสมัยออตโนมัน ราวปี ค . ศ .1453 ในช่วงแรก ชาวเติร์กดื่มกาแฟที่บ้านและใช้ต้อนรับอาคันตุกะผู้มาเยี่ยมเยียนจนในปี ค . ศ .1554 ร้านกาแฟร้านแรกในโลกเกิดขึ้นที่นครคอนสแตนติโนเปิล ปัจจุบันคือเมืองอิสตันบูล โดยชาวซีเรีย 2 คน มีการเสริฟกาแฟในร้านที่มีโซฟาที่สวยงามสะดวกสบาย เป็นแหล่งที่พบปะพูดคุยของคนทั้งกวี นักนิยมศิลปและวรรณกรรมนักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง ฯลฯ ร้านกาแฟได้รับความนิยม มีการขยายร้านกาแฟมากขึ้น จนถือได้ว่าเป็นร้านกาแฟต้นแบบในเมืองต่างๆ ของยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 17-18 จนถึงปัจจุบัน

No comments:

Post a Comment